หน้าแรก
ทีมผู้บริหารและบุคลากร สำนักหอสมุดกลางเข้าร่วมโครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่องการปรับกระบวนทัศน์เพื่อการพัฒนาสู่ความเป็นเลิศ ระยะที่ 1 ครั้งที่ 2

ทีมผู้บริหารและบุคลากร สำนักหอสมุดกลางเข้าร่วมโครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่องการปรับกระบวนทัศน์เพื่อการพัฒนาสู่ความเป็นเลิศ ระยะที่ 1 ครั้งที่ 2

         เมื่อวันอังคารที่ 16 พฤศจิกายน 2564 : สำนักหอสมุดกลาง นำโดย รศ.ดร.พยุง มีสัจ ผู้อำนวยการสำนักหอสมุดกลาง พร้อมด้วย รศ.ดร.ฉัตรชาญ ทองจับ รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหารและกิจการพิเศษ ผศ.ดร.วาทินี นุ้ยเพียร รองผู้อำนวยการฝ่ายนวัตกรรมดิจิทัลและทรัพยากรสารสนเทศ เข้าร่วมโครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง ปรับกระบวนทัศน์เพื่อการพัฒนาสู่ความเป็นเลิศ ระยะที่ 1 ครั้งที่ 2 โดยมี ผศ.ดร. สุภัทร พัฒน์วิชัยโชติ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายยุทธศาสตร์และพัฒนาองค์กร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา และ ผศ.ดร.วีระยุทธ์ พิมภาภรณ์ รองคณบดีฝ่ายบริหาร คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา เป็นวิทยากรในการถ่ายทอดความรู้ และเป็นที่ปรึกษาในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในโครงการนี้

        ในช่วงเช้าก่อนการเริ่มฟังบรรยาย เรื่อง กลยุทธ์ และ Balanced Scorecard จากนั้นวิทยากรได้ เริ่มกิจกรรมที่ 1 ด้วยการแบ่งผู้เข้าร่วมเป็น 2 กลุ่ม และดำเนินการในรูปแบบ World café เพื่อทบทวนและแลกเปลี่ยนความคิดระหว่างกลุ่ม ด้วยมิติ SWOT ซึ่งกลุ่มที่ 1 สรุปจุดแข็ง (S) และ จุดอ่อน (W) ในส่วนกลุ่มที่ 2 สรุปโอกาสเชิงกลยุทธ์ (O) และอุปสรรค (T) ภายในเวลา 30 นาที กลับเข้าห้องประชุมใหญ่เพื่อนำเสนอมุมมองของกลุ่มตนเองแก่ผู้ร่วมกิจกรรมทุกคนรับฟัง

        หลังจากพักรับประทานอาหารกลางวัน วิทยากรชี้แนะเกี่ยวกับการกำหนดสมรรถนะหลักองค์กร (Core Competencies) และการวิเคราะห์ความเสี่ยงที่เป็นผลต่อโอกาสเชิงกลยุทธ์ (Intelligent Risk) ของสำนักฯ จากนั้นเริ่มดำเนินการกิจกรรมที่ 2 โดยแบ่งผู้ร่วมกิจกรรมเป็น 4 กลุ่ม ทบทวนสมรรถนะหลักองค์กร โดยเริ่มจากการประเมินทรัพยากร และขีดความสามารถขององค์กร ด้วยมิติ VRIO Model เพื่อให้ได้พบความได้เปรียบขององค์กรที่จะนำพาไปสู่วิสัยทัศน์ที่ตั้งไว้ ซึ่งมีเวลาทำกิจกรรมทั้งหมด 20 นาที และกลับมาเจอกันที่ห้องประชุมใหญ่ เพื่อนำเสนอมุมมองของแต่ละกลุ่ม โดยขณะที่ฟังการนำเสนอ วิทยากรจะประเมินความได้เปรียบข้อนั้น ๆ พร้อมแนะนำให้บุคลากรรับรู้และทำความเข้าใจไปพร้อม ๆ กัน ซึ่งนับเป็นโอกาสที่ดีในการเปิดมุมมองแก่บุคลากรรับรู้และทำความเข้าใจพร้อมกันด้วย ทั้งนี้วิทยากรได้สรุปสมรรถนะหลัก (Core Competencies) จากการนำเสนอของแต่ละกลุ่ม เพื่อใช้ในการต่อยอดกิจกรรมที่ 3 คือ กิจกรรมระดมความคิด Strategic Opportunity, Challenge และ Advantage มีเวลา 20 นาที โดยแบ่ง 4 กลุ่ม ได้แก่

  • กลุ่มที่ 1 คิดความได้เปรียบเชิงกลยุทธ์ (Strategic Advantage) จาก "จุดแข็ง" และ Core competencies รวมทั้ง ควรจะร่วมมือทางกลยุทธิ์กับองค์กรใด ในการร่วมแสดงความคิดเห็นในกลุ่ม และนำเสนอแต่ละกลุ่ม
  • กลุ่มที่ 2 คิดความท้าทายเชิงกลยุทธ์ (Strategic Challenge) จาก "จุดอ่อน" หรือ แรงกดดันภายในองค์กร เช่น ขีดความสามารถขององค์กร หรืออาจารย์ รวมทั้งบุคลากร และทรัพยากรอื่น ๆ ขององค์กร ที่เป็นเชิงลบ
  • กลุ่มที่ 3 คิดความท้าทายเชิงกลยุทธ์ (Strategic Challenge) จาก "อุปสรรค" หรือ แรงกดดันภายนอกองค์กร เช่น ตำแหน่งการแข่งขันที่องค์กรคาดหวังในอนาคตเมื่อเทียบกับองค์กรอื่นที่มีหลักสูตรและบริการที่คล้ายคลึงกันความต้องการหรือความคาดหวังของผู้เรียนและลูกค้ากลุ่มอื่น ตลาดการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีหรือความเสี่ยงทางด้านงบประมาณ การเงินสังคม
  • กลุ่มที่ 4 คิดโอกาสเชิงกลยุทธ์ (Strategic Opportunity) จาก "โอกาส" โดยคิดแบบนอกกรอบ/ ฉีกแนวจากสภาพปัจจุบัน เพื่อมองอนาคตที่แตกต่างออกไป จากนั้นลองเลือกว่า โอกาสเชิงกลยุทธ์ข้อใดที่จะนำมาวิเคราะห์ Intelligent Risk เพื่อนำไปต่อยอดเป็น "นวัตกรรม" (โดยใช้ I และ R จากมิติ VRIO)

         หลังจากร่วมรับฟังการนำเสนอของแต่ละกลุ่ม วิทยากรได้มีการอธิบายเรื่อง การกำหนด Intelligent Risk กลยุทธ์ วัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์ และตัวชี้วัด ทั้งนี้ได้มีการยกตัวอย่างจากคณะวิทยาศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชาให้ผู้ร่วมกิจกรรมดูคร่าว ๆ เพื่อเป็นตัวอย่างในการฝึกปฏิบัติชิ้นงานก่อนกลับมาพบกันในกิจกรรมครั้งหน้า ซึ่งจะเกิดขึ้นในเดือนธันวาคม 2564 ที่กำลังจะมาถึงนี้...

        อย่างไรก็ตามกิจกรรมเหล่านี้ ได้นำพาให้สำนักฯ เดินทางมาถึงครึ่งทางที่มีการวางแผนไว้ในทิศทางการนำองค์กรเพื่อ “มุ่งสู่ห้องสมุดดิจิทัลอัจฉริยะ :To Be Smart Digital Library” นั่นเอง