หน้าแรก
รองศาสตราจารย์ ดร. พยุง มีสัจ เข้ารับมอบโล่รางวัลสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ประเภทโครงการผู้รับทุนของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

รองศาสตราจารย์ ดร. พยุง มีสัจ เข้ารับมอบโล่รางวัลสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ประเภทโครงการผู้รับทุนของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

รองศาสตราจารย์ ดร. พยุง มีสัจ  เข้ารับมอบโล่รางวัลสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ประเภทโครงการผู้รับทุนของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ด้านการวิจัยและขับเคลื่อนสังคม จากนายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม และรองประธานกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ในวันศุกร์ที่ 16 กันยายน 2565 เวลา 13.00 – 16.00 น. ณ โรงแรม อัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น หลักสี่

โดยพิธีมอบรางวัลในวันนี้เป็นรางวัลที่กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ได้เปิดโอกาสให้ประชาชนทุกภาคส่วน และผู้จัดทำสื่อทุกแขนง อาทิ สื่อโทรทัศน์ สื่อภาพยนตร์ สื่อสิ่งพิมพ์ สื่อท้องถิ่น สื่อบุคคล สื่อโฆษณา/ประชาสัมพันธ์ สื่อท้องถิ่น เป็นต้น ซึ่งกองทุน ฯ ได้เปิดรับผลงานตั้งแต่ปี 2560 จนถึงปี 2563 ได้รับผลงานทั้งหมด 683 ผลงาน จากนั้นจึงเชิญผู้เชี่ยวชาญ และผู้ทรงคุณวุฒิในแขนงต่าง ๆ คัดเลือกผลงานที่สมควรได้รับรางวัล ทั้งนี้เพื่อเป็นการเชิดชูเกียรติของผู้ผลิตสื่อที่ได้รับรางวัลสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์อีกด้วย และยังเป็นการสร้างแรงบันดาลใจ แรงสนับสนุน ตลอดจนกำลังใจดี ๆ ในการผลิตสื่อที่ดีเพื่อสังคม และผู้ที่กำลังผลิตสื่อรุ่นต่อ ๆ ไปด้วย

รองศาสตราจารย์ ดร. พยุง มีสัจ ผู้อำนวยการสำนักหอสมุดกลาง อาจารย์ประจำภาควิชาการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรมดิจิทัล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เป็นตัวแทนทีมวิจัยโครงการวิจัย “การพัฒนาการตรวจจับข่าวปลอมโดยการเรียนรู้ของเครื่องและการตรวจสอบข้อเท็จจริงของประชาชน” ซึ่งได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ปีงบประมาณ 2563 โดยมีหัวหน้าโครงการวิจัย คือ รองศาสตราจารย์ ดร.พนม คลี่ฉายา คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมีผู้ร่วมโครงการวิจัย ได้แก่ รองศาสตราจารย์ ดร. พยุง มีสัจ นักวิจัย คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรมดิจิทัล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และ ว่าที่ ร.ต. ดร.องอาจ อุ่นอนันต์ และนางสาวกมลรัตน์ กิจรุ่งไพศาล ผู้ช่วยนักวิจัย

โดยผลลัพธ์ของโครงการวิจัย คือ เรื่องการตรวจสอบข่าวปลอมภาษาไทยด้วยเทคนิคปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งผู้วิจัยใช้สามเทคนิคหลักในการสร้างแบบจำลองการตรวจจับข่าวปลอม ได้แก่ การสืบค้นข้อมูลสารสนเทศ การประมวลผลภาษาธรรมชาติ และการเรียนรู้ของเครื่อง การสืบค้นข้อมูลสารสนเทศเป็นกลไกในการดึงข้อมูลจากเว็บไซต์ข่าวออนไลน์และโซเชียลมีเดีย  การประมวลผลภาษาธรรมชาติจะวิเคราะห์ข่าวที่ได้กลับคืนมาเพื่อสกัดข้อมูลคุณลักษณะมีความโดดเด่น เพื่อส่งข้อมูลให้การเรียนรู้ของเครื่องทำการจัดประเภทบทความข่าวออกเป็นสามประเภท ได้แก่ ข่าวจริง ข่าวปลอม และข่าวน่าสงสัย ได้อย่างถูกต้องแม่นยำ ทั้งนี้สามารถทดลองใช้งานได้ที่ https://thaidimachine.org